ประวัติการจัดสวน

ปัจจุบันสวนมีรูปแบบหลากหลายและมีความสวยงามต่างๆกันไปให้เราเลือกชื่นชมได้ตามรสนิยม แต่เบื้องหลังภาพสวนสวยๆที่เห็น หลายคนอาจจะเคยนึกสงสัยอยู่บ้างว่าสวนเหล่านี้มีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร

รูปแบบของสวนที่มีมาในประวัติศาสตร์โลกแยกการศึกษาออกได้สองส่วนใหญ่ๆ คือ สวนแบบตะวันตก และสวนแบบตะวันออกความแตกต่างของการไล่เรียงรูปแบบสวนจากสองซีกโลกนี้ก็คือ สวนแบบตะวันตกจะมีความต่อเนื่องเรียงกันมาตามยุคสมัยและเหตุการณ์แวดล้อมทางประวัติศาสตร์ พัฒนาการและรูปแบบการเปลี่ยนแปลงจะเชื่อมโยงถึงกันเกือบทุกประเทศ เนื่องจากประเทศทางตะวันตกโดยเฉพาะในยุโรปนั้นมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดและเทคโนโลยีกันอยู่ตลอดเวลา ส่วนสวนของประเทศทางตะวันออกจะมีความแตกต่างแยกกันไปตามพื้นฐานวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ต่างกัน การเชื่อมโยงถ่ายทอดแนวคิดให้กันและกัน
ก็มีบ้างแต่ไม่ได้กระจายทั่วถึงกันหมด อย่างไรก็ดีแนวคิดและรูปแบบสวนจากทั้งทางตะวันตกและตะวันออกต่างก็มีอิทธิพลต่อกันและกันอยู่เสมอยากที่จะแยกออกจากกันได้โดยเด็ดขาด

พวกเราชาวภูมิทัศน์

เธ›เธฃเธฐเธงเธฑเธ•เธดเธเธฒเธฃเธˆเธฑเธ”เธชเธงเธ™ (History of Landscaping)

อ้อมกะเพื่อน สาขานวัตกรรมภูมิทัศน์

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

สวนบาลี:ความเชื่อ ศรัทธา และความงาม

สวนบาหลีแบบที่มักจะเห็นกันในหนังสือ  จริงๆแล้วเพิ่งจะเริ่มพัฒนามาเมื่อประมาณ 25-30 ปีก่อนนี้เองซึ่งก็คือช่วงที่การท่องเที่ยวเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นบนเกาะแห่งนี้  และด้วยศักยภาพในหลายๆด้านซึ่งรวมถึงพื้นฐาน  ทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์จึงทำให้เกิดสวนรูปแบบเฉพาะตัวขึ้นมาบนเกาะบาหลีและแพร่กระจายความนิยมไปในประเทศต่างๆโดยรอบด้วยพื้นฐานความเชื่อดั้งเดิมที่เชื่อในวิญญาณและสิ่งศักดิ์สิทธิ  ผสานกับความศรัทธาในศาสนาฮินดูทำให้ชาวบาหลีมีวัฒนธรรม ที่แตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆที่อาศัยในดินแดนแถบนี้  ชาวบาหลีให้ความเคารพและใช้ชีวิตกลมกลืนกับธรรมชาติบ้านเรือนจะอยู่ในกำแพง ภายในวางอาคารล้อมพื้นที่ตรงกลางเป็นคอร์ท (Court)  ซึ่งเป็นที่พบปะและทำกิจกรรมร่วมกันของครอบครัว แต่เดิมพื้นที่ตรงกลางนี้จะถูกทิ้งให้เป็นลานดิน  สวนในบ้านเน้นการปลูกพืชที่นำมาใช้ประโยชน์และรับประทานได้ เช่น มะพร้าว กล้วย เงาะ มะละกอ  รวมถึงไม้ดอกซึ่งสามารถนำไปบูชาเทพเจ้าและเจ้าที่เจ้าทางได้ ดอกไม้มีความสำคัญอย่างมากในวัฒนธรรมของชาวบาหลี  เราจะเห็นการใช้ดอกไม้ประดับตามที่ต่างไปทั่ว แม้กระทั่งบนร่างกายของชาวบาหลีเองที่ได้ชื่อว่ามีความเป็นศิลปินอยู่ในสายเลือดทุกคนเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ชาวตะวันตกเข้ามามีบทบาทต่อรูปแบบศิลปะของชาวบาหลีโดยการนำเอาความคิด และเทคนิคใหม่ๆมาผสมผสานกับศิลปะดั้งเดิมสร้างงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว  ผนวกกับความอุดมสมบูรณ์ ทางพรรณไม้บนเกาะแห่งนี้ทำให้เกิดสวนแบบบาหลีอย่างที่เห็นในปัจจุบันขึ้นมาโดยที่สวนยังคงลักษณะของคอร์ท (Courtyard Garden) ตกแต่งด้วยพรรณไม้เมืองร้อน โดยมีดอกไม้ เช่น บัวลั่นทม และชบาตกแต่งอยู่ทั่วไป  งานหินแกะสลักก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ  เนื่องจากความศรัทธาที่ชาวบาหลีมีต่อ ศานาประกอบกับความมีฝีมือทางศิลป์ทำให้มีการแกะสลักหินเพื่อประดับและตกแต่งวัดวาอารามอยู่เสมอ ทั้งนี้วัสดุที่นำมาแกะนั้นส่วนใหญ่เป็นหินสบู่ผุพังง่ายต้องมีการเปลี่ยนใหม่อยู่เสมอ  รูปแกะสลักเก่าจึงกลายเป็น วัสดุอันมีค่าสำหรับนักจัดสวน นอกจากรูปหินแกะสลักแล้ว  งานศิลปะชนิดอื่นๆ เช่น หม้อ กระถาง ชาม อ่าง ก็ล้วนแต่ถูกนำมาจัดวางในสวนเพื่อแสดงให้เห็นความร่ำรวยทางวัฒนธรรมของเกาะแห่งนี้  โดยส่วนใหญ่ จะเน้นสร้างสวนให้มีเสน่ห์ด้วยบรรยากาศแบบชนบท (Rustic  Charm) นอกจากสวนแบบบ้านชนบทแล้วสวนในวังของบาหลียังแสดงให้เห็นอิทธิพลจากชวาด้วยสวนแบบทางการที่เน้นการใช้รูปทรงเรขาคณิต และการใช้น้ำเพื่อตกแต่งสวน

สวนไทย:บรรยากาศ การีใช้สอย ความเชื่อ



เมื่อพูดถึงสวนไทยหลายๆคนคงจะเริ่มขมวดคิ้วเพราะคิดไม่ออกว่าสวนไทยนั้นเป็นอย่างไร  แต่ถ้าย้อนมองกลับไปที่บ้านเรือนไทยที่ยกใต้ถุนสูงจะเห็นลักษณะของสวนที่ชัดเจนอย่างหนึ่งก็คือ  "สวนกระถาง" บนนอกชาน เจ้าของบ้านมักจะเลือกไม้ผล ไม้ดอก และไม้ใบนานาชนิดมาปลูกลงในกระถางเครื่องเคลือบอันสวยงามเพื่อตั้งอวดให้แขกไปใครมาได้เห็น  พร้อมๆกับสร้างบรรยากาศความรื่นรมย์กับให้บ้าน ไม้ดัดก็เป็นงานศิลปะอีกชิ้นหนึ่งที่มักจะอยู่คู่กับสวนไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย  นอกจากนี้ยังมีอ่างบัว อ่างปลา และนกน้อยในกรงช่วยสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับสวนได้ไม่น้อย  รอบๆบ้านมักจะปลูกไม้ใหญ่ให้ร่มเงาสร้างความร่มรื่นให้กับตัวบ้าน พืชพรรณที่นำมาปลูกมักมีจุดประสงค์เพื่อการใช้งานนอกเหนือไปจากความสวยงาม  ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล เช่นมะม่วง ขนุน ชมพู่ หรือไม้ที่ให้ประโยชน์สารพัดเช่น มะพร้าว  และกล้วย เป็นต้น สมุนไพรและพืชผักสวนครัวเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มักจะอยู่คู่กับสวนไทยไม่มีขาดทั้ง ตะไคร้ ขิง ข่า พริก มะกรูด  มะนาว ฯลฯ
บ่อน้ำ  สระน้ำ ไม่ใช่ส่วนประกอบสำคัญของสวนบ้านไทยในอดีต  เนื่องด้วยคนไทยมีชีวิตผูกพันกับสายน้ำอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว  แต่ในปัจจุบันเมื่อชีวิตคนไทยโดยเฉพาะในเมืองห่างไกลจากสายน้ำมากขึ้น  เราจึงเห็นการใช้น้ำในการสร้างบรรยากาศพิเศษให้กับสวนมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นสระน้ำน้ำพุ น้ำตก คลอง ฯลฯ การปลูกไม้ไว้เพื่อใช้งานยังคงมีให้เห็นอยู่  แต่อาจจะลดน้อยลงไปบ้างด้วยข้อจำกัดของขนาดที่ดินและเวลาในการดูแล  ไม้ดอกหอมเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่มีในสวนไทยมาช้านาน ทั้งเอาไว้ถวายพระ  ไหว้เจ้าที่เจ้าทางและไว้ให้เจ้าของบ้านเองได้ชื่นชม  จะสังเกตได้ว่าแม้ปัจจุบันบ้านส่วนใหญ่จะไม่ได้ยกใต้ถุนสูง ไม้กระถาง อ่างบัว  ไม้ดัดงานประติมากรรมต่างๆ ก็ยังถูกนำมาจัดวางประดับประดาสวนโดยรอบบ้าน  ซึ่งรวมไปถึงสวนในวังและในวัดด้วยเช่นกัน
จุดที่น่าสนใจที่ซ่อนอยู่ในสวนไทยก็คือความเชื่อ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไม้มงคลและไม้ต้องห้าม การปลูกไม้ตามทิศ  หรือความเชื่อเรื่องเจ้าที่ สิ่งศักดิ์สิทธิซึ่งคอยพิทักษ์ปกป้องสถานที่  ความเชื่อเหล่านี้มีผลต่อรูปแบบสวนอยู่พอสมควร ที่เห็นได้ชัดเจนคือ  การตั้งศาลพระภูมิและศาลเจ้าที่จนกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสวน  รวมไปถึงการปลูกพืชบางชนิดในตำแหน่งคล้ายๆกัน เช่น นิยมปลูกมะยมและยอไว้หน้าบ้านเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าผู้อยู่อาศัยในบ้านจะมีผู้คนเยินยอ  เป็นที่นิยมชมชอบ ส่วนขนุนปลูกไว้หลังบ้านเพื่อจะได้ มีคนคอยสนับสนุนอยู่ตลอด เป็นต้นส่วนสวนในวังมักจะแสดงออกถึงอิทธิพลจากต่างชาติที่เข้ามาติดต่อกับไทย  ไม่ว่าจะเป็นสวนขวาในสมัยรัชกาลที่สองที่สร้างเขาก่อและขุดสระน้ำอย่างสวนจีน  หรือสวนแบบทางการบริเวณหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท  ซึ่งทำสนามหญ้าเป็นปาร์แตร์ง่ายๆอย่างอังกฤษผสมกับการปลูกไม้ดัดของไทย  แต่ในวังก็ยังคงมีการปลูกไม้ผลและไม้ดอกเพื่อไว้ใช้งานอย่างในสวนบ้านสามัญชน นอกจากนี้ภายในวังยังมีการวางงานประติมากรรมรูปสัตว์ในเทพนิยายประดับประดาเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งสวรรค์ ตามความเชื่อ "เทวราชา" ที่รับมาจากขอม

สวนญี่ปุ่น:ปรัชญากับการค้นหา




ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของญี่ปุ่นรูปแบบของสวนมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมและอิทธิพลจากต่างชาติโดยเฉพาะจากจีนซึ่งบางครั้งผ่านมาทางเกาหลี รวมถึงแนวคิดทางศาสนาพุทธมหายานก็ถูกแสดงออกในศิลปะการจัดสวนอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดีด้วยสภาพภูมิประเทศอันเป็นเอกลักษณ์  ผนวกกับความเชื่อในการมีอยู่ของจิตวิญญาณและแนวคิดจากศาสนาชินโตที่เน้นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยความเคารพล้วนแต่มีส่วนสำคัญที่ทำให้สวนญี่ปุ่นมีรูปแบบเฉพาะตัวที่ลุ่มลึกไปด้วยปรัชญายากจะเลียนแบบได้ศาสนาพุทธเข้ามาถึงญี่ปุ่นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษแรกพร้อมกับแนวคิดในการสร้างสวนให้เป็นแดนสวรรค์แห่งพระอมิตาดินแดนในอุดมคติแห่งความเป็นอมตะ  แม้จะได้รับอิทธิพลจากจีนแต่ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเกาะเต็มไปด้วยภูเขาจึงมีข้อจำกัดด้านขนาดของพื้นที่ทำให้สวนญี่ปุ่นมีขนาดย่อมลงมามาก  เน้นการนั่งชมสวนจากในอาคารมากกว่าการลงเดินในสวน องค์ประกอบสำคัญคือสระน้ำและเกาะแก่ง  การเลือกพืชพรรณและองค์ประกอบต่างๆเพื่อเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นช่วงเวลาแห่งความสับสนวุ่นวายในยุคกลางของญี่ปุ่น พระในศาสนาพุทธนิกายเซนมีบทบาทอย่างมากในการสร้างสวนแบบนามธรรมเพื่อนำทางไปสู่การหลุดพ้น  อันเป็นที่มาของภูมิทัศน์แบบแห้ง (Dry Landscape) ใช้หิน  กรวด และทราย สีขาวและดำ สร้างสวนเพื่อสื่อถึงดินแดนอุดมคติโดยยึดแนวทางการลดทอนรายละเอียดต่างๆจนเหลือแต่แก่นแท้ทั้งของสวนเอง  และของจิตวิญญาณของผู้ที่เข้าไปทำสมาธิในสวน  พื้นที่อันจำกัดจึงไม่ใช่อุปสรรคในการสร้างบรรยากาศแห่งการหลุดพ้น  หากแต่หัวใจของสวนแบบเซนคือการเข้าใจถึงแก่นแท้ขององค์ประกอบที่ซ่อนอยู่ในองค์ประกอบของสวน  สวนแบบเซนที่มีชื่อเสียงอย่างมากคือสวนที่วัดเรียวอันจิ (Ryoan-ji) แห่งเมืองเกียวโต  คาดว่าสร้างครั้งแรกในปี 1430 และปรับปรุงใหม่ในปี 1488 สวนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าถูกล้อมด้วยกำแพงสองด้านและอีกสองด้านเป็นส่วนของอาคารซึ่งใช้นั่งชมสวนตัวสวนเองสร้างเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของดินแดนในอุดมคติ  ซึ่งมีที่มาจากตำนานเก่าแก่ที่เล่าถึงเกาะแห่งความเป็นอมตะประกอบด้วยพื้นกรวดสีขาวถูกคราดเป็นเส้น  ก้อนหินสิบห้าก้อนถูกจัดวางเป็นห้ากลุ่มมอสและตะไคร่น้ำเป็นสัญลักษณ์ของป่าอันสมบูรณ์สวนน้ำชาเป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งของญี่ปุ่น  ในคริสตศต์วรรษที่ 16  มีการแยกศาลาชงชาออกมาจากตัวบ้านมาไว้ในสวน สวนลักษณะนี้แม้ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงนักกับศาสนาแต่มีแนวคิดที่ลึกซึ้งในการจัดระเบียบจิตวิญญาณ  การเข้าถึงสวนจะถูกจัดลำดับขั้นตอนเพื่อชะล้างความฟุ้งซ่านออกจากจิตใจ  ทุกย่างก้าวในสวนน้ำชาจะต้องเต็มไปด้วยสติ เพื่อไม่ให้เหยียบย่ำไปบนพื้นมอสอันบอบบาง  หรือตกจากก้อนหินที่วางเป็นจังหวะอย่างเหมาะเจาะ หยุดพิจารณาตะเกียงหินหรือจังหวะการกระดกของกระบอกไม้ไผ่  เมื่อเดินจนถึงศาลาชงชาผู้ที่ผ่านสวนมาก็จะเต็มเปี่นมไปด้วยสติและสมาธิพร้อมสำหรับพิธีชงชาอันละเอียดอ่อน ความงามของสวนน้ำชาเน้นความเหมาะเจาะพอดี ว่ากันว่าผู้ดูแลสวนจะเก็บกวาดใบไม้โดยเหลือทิ้งไว้บ้างตามทางเดินเพื่อให้ได้บรรยากาศตามธรรมชาติที่จะต้องมีใบไม้ร่วงอยู่ตามพื้นบ้านในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ตรงกับสมัย  เอโดะ (Edo) มีการพัฒนาสวนขึ้นอีกรูปแบบหนึ่งที่ใช้สำหรับเดินชม  (Stroll Garden) องค์ประกอบของสวนยังคงแสดงออกถึงบรรยากาศของดินแดนอมตะในอุดมคติ  แต่มีการกำหนดแนวทางเดินและสร้างจุดสนใจเป็นระยะเพื่อให้เกิดความรื่นรมย์ในการเดินชื่นชมความงามของแดนสวรรค์บนดินลักษณะที่น่าสนใจขององค์ประกอบทางธรรมชาติถูกดึงออกมาให้เห็นอย่างกลมกลืน  แสดงให้เห็นความละเอียดอ่อนของชาวญี่ปุ่นที่ทั้งเข้าใจและเคารพในธรรมชาติ

สวนจีน:ธรรมชาติกับภาพเขียน

ลัทธิเต๋าซึ่งว่าด้วยแนวทางของการดำเนินชีวิต  กล่าวถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ โดยเน้นที่การสร้างสมดุลเป็นปรัชญาพื้นฐานที่สอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตของชาวจีน  อันส่งผลต่อรูปลักษณ์ของงานศิลปะแขนงต่างๆโดยเฉพาะในภาพเขียนและการจัดสวน  ลักษณะของภาพเขียนจีนและสวนมีลักษณะร่วมกันหลายประการ คือเป็นการสร้างสภาพภูมิทัศน์ธรรมชาติในอุดมคติ (Ideal Natural Landscape) เป็นภาพของสถานที่อันสวยงามเป็นอมตะ (Immortal Land) โดยใช้แรงบันดาลใจจากสภาพธรรมชาติอันงดงามของจีน  เลือกที่จะดึงลักษณะบางประการมาแสดง  มีการเว้นว่างพื้นขาวหรือเว้นกำแพงขาวไว้เพื่อให้ผู้ชมต่อเติมจินตนาการเอง เหมือนกับธรรมชาติที่มีเขาสูงชันสลับซับซ้อนโดยมีบางส่วนถูกบดบังไปด้วยหมอกขาว  ดังนั้นสวนจีนจึงมีภาพที่แตกต่างกันไปตามแต่จินตนาการของผู้ชมอันเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของสวนจีน
กำเนิดสวนจีนนั้นนับถอยหลังไปได้ก่อนคริสตกาล  เริ่มแรกสวนถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ล่าสัตว์ขององค์จักรพรรดิ์และถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงอำนาจโดยใช้เป็นสถานที่จำลองของระบบจักรวาลโดยมีจักรพรรดิเป็นศูนย์กลางรวมถึงเป็นที่สะสมพรรณไม้ สัตว์ และศิลปะจากต่างแดน  ส่วนสวนส่วนตัวของบรรดานักปราชญ์และผู้มีอันจะกินนั้นสร้างขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อดึงธรรมชาติมาใกล้ตัวให้เข้าถึงได้ง่าย  โดยยึดแนวคิดของดินแดนอมตะในอุดมคติเป็นหลักซึ่งแสดงให้เห็นด้วยการเลือกใช้องค์ประกอบต่างๆ ได้แก่  ใช้ไม้ไม่ผลัดใบให้เขียวตลอดเวลา ใช้ไม้ดอกสร้างสีสันพร้อมสื่อความหมายของวงจรชีวิตที่มีเกิดมีดับ ใช้พืชสัญลักษณ์ เช่น  บัวซึ่งเชื่อมโยงถึงหลักธรรมในพุทธศาสนาและไผ่ที่หมายถึงความยืนยาว และมิตรภาพ เป็นต้น  เน้นการใช้หินและน้ำเพื่อสร้างความสมดุล หยิน-หยางสวนจะถูกแบ่งเป็นห้องๆทำให้เกิดความลึกลับน่าค้นหา  แต่ละห้องจะมีประตูทางเข้าเป็นรูปต่างๆที่เห็นได้บ่อยจะเป็นรูปวงกลมหรือที่เรียกกันว่า "มูนเกต" (Moon  Gate) แต่ละห้องกั้นด้วยกำแพงสีขาวปิดกั้นสิ่งรบกวนจากภายนอกกำแพงขาวจึงกลายเป็นพื้นภาพที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้จินตนาการต่อเอง  เหนือประตูทางเข้าแต่ละสวนจะมีป้ายบอกชื่อของสวนนั้นให้ทราบว่าผู้ออกแบบต้องการจะสื่ออะไรแก่ผู้ชม  ในสวนจีนมักจะมีการกำหนดจุดสำหรับชมสวนไว้โดยเฉพาะเช่น ศาลา สะพาน เก๋งจีน เป็นต้น  ทางเดินจะถูกกำหนดไว้แล้วและมักจะเป็นเส้นตรงซิกแซกไปมาทำให้รู้สึกว่าสวนมีขนาดกว้างใหญ่เกินจริง  เส้นซิกแซกทำให้มุมมองขณะเดินหักเหเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆไม่ซ้ำซากจำเจช่วยทำให้สวนมีเสน่ห์น่าค้นหา

สวนอเมริกัน

ทางสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา  เมื่อประชาธิปไตยและการพัฒนาทางอุตสาหกรรมได้กลายเป็นพื้นฐานใหม่ในสังคมสิ่งที่ตามมาก็คือสวนสาธารณะ ในยุคแรกเกิดจากการที่ชนชั้นสูงในยุโรปถูกกดดันจากชนชั้นแรงงานจนต้องสละสวนส่วนตัวให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับลดความตึงเครียดในสังคมเมืองที่แออัด ต่อมาได้มีการกำหนดให้สวนสาธารณะเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ
ของเมือง และมีการออกแบบให้เหมาะกับการใช้สอย  อย่างไรก็ดีสวนในยุคแรกยังคงยึดรูปแบบสวนอังกฤษที่พยายามเลียนแบบธรรมชาติและสร้างบรรยากาสโรแมนติก ในปี 1860 มหานครนิวยอร์คได้จัดสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่ขึ้น ผู้ชนะการประกวดแบบได้แก่ นายเฟรเดอริค ลอว์  โอล์มสเต็ด (Frederic Law Olmsted)โดยพยายามผสานรูปแบบสวนอังกฤษกับการกำหนดพื้นที่ใช้งานสำหรับผู้เข้ามาใช้สวนกลุ่มต่างๆ  แทนที่สวนแบบเดิมที่เน้นแต่การปลูกต้นไม้และเว้นที่ว่างทำสนามหญ้า เช่น  การออกแบบสนามเด็กเล่น จัดทางเดินสำหรับจ็อกกิ้ง แยกต่างหากจากทางรถวิ่ง เป็นต้น  หลังจากสวนสาธารณะแห่งนี้ประสบความสำเร็จเมืองต่างๆทั่วโลกก็ให้ความสำคัญกับสวนสาธารณะมากขึ้น

สวนอังกฤษ

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในอังกฤษเกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบสวนเป็นอย่างมาก    เชื่อกันว่าเป็นผลมาจากการออกล่าอาณานิคมและทำการค้ากับประเทศทางตะวันออกโดยเฉพาะจีน    การจำลองธรรมชาติเข้ามาไว้ในสวนบวกกับความชอบใช้ชีวิตในชนบทของชาวอังกฤษก่อให้เกิดแนวคิดใหม่ในการออกแบบสวนยุโรป    ลบล้างสวนแบบเป็นทางการที่เน้นการใช้รูปทรงเรขาคณิตและเส้นตรง    มาเป็นการใช้รูปทรงอิสระ และเส้นสายคดโค้งนักออกแบบสวนมีการตีความของลักษณะแบบ "ธรรมชาติ"    ไปต่างๆกัน แต่โดยรวมๆจะเน้นการทำสนามหญ้าทำเนิน ปลูกต้นไม้เป็นกลุ่ม และสร้างให้เกิดบรรยากาศแบบโรแมนติค    ชวนฝัน การจัดองค์ประกอบของสวนทำเหมือนกับการวาดภาพทิวทัศน์ หรือที่เรียกว่า "Picturesque    Garden" โดยจะต้องกำหนดจุดที่ตั้งใจให้ชมสวน เช่น บริเวณระเบียง ศาลา หรือจากหน้าต่างห้องใดห้องหนึ่ง    ภาพที่มองจากจุดที่กำหนดจะประกอบด้วยฉากหน้า (Fore Ground) จุดสนใจ (Focal    Point) และฉากหลัง (Back Ground) ตัวจุดสนใจมักเป็นสิ่งก่อสร้างหรืออาคารเล็กๆ รูปแบบขึ้นอยู่กับบรรยากาศของสวนที่ต้องการ เช่น    บรรยากาศแบบอะคาเดียน (เมืองชนบทของกรีกที่ร่ำลือว่างดงาม)จุดสนใจมักจะเป็นศาลา หรืออาคารแบบกรีก    มีการเลี้ยงปศุสัตว์ปล่อยให้เดินไปตามทุ่งเพื่อเน้นความเป็นชนบทหรือถ้าเป็นบรรยากาศแบบแฟนตาซี    ก็จะเห็นการใช้สิ่งก่อสร้างที่ทำเหมือนซากปรักหักพัง หรือบ้านในชนบท หรือแม้กระทั่งสิ่งก่อสร้างของต่างแดน เช่น ปิรามิด เก๋งจีน    ถ้ำหรือกร็อตโตแบบโรมัน เป็นต้น
สวนอังกฤษจัดองค์ประกอบแบบภาพเขียน นิยมบรรยากาศแบบโรแมนติก
หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมประชาธิปไตยในหลายๆประเทศ    ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างที่สะท้อนออกมาทางรูปแบบสวน    ที่เห็นได้ชัดประการแรกคือเรื่องของพรรณไม้ที่มีการโยกย้ายถิ่นฐานข้ามถิ่นกันอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการผลิตและขายต้นไม้ในระบบอุตสาหกรรมคือผลิตต้นไม้แต่ละชนิดและขนย้ายขายกันทีละมากๆชนิดที่เป็นที่นิยมจะกระจายไปทุกหนแห่ง    และด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวัสดุ เช่น การผลิตเหล็กและกระจกที่มีคุณภาพสูงขึ้นสามรถสร้างเรือนกระจกขนาดใหญ่    ทำให้ปลูกพืชที่มาจากภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างกันได้
เช่น สามารถปลูกไม้ทะเลทรายในเมืองที่มีอากาศร้อนชื้น    หรือปลูกพืชจากป่าชื้นเขตร้อนในที่ที่มีอากาศหนาวเย็นได้ เป็นต้น

แนวคิดของนักออกแบบสวนก็มีหลากหลายต่างกันไป    บางคนพยายามนำรูปแบบสวนในอดีตกลับมาใช้ใหม่ บางคนพยายามเสนอรูปแบบใหม่ๆ เช่น สวนแบบ "การ์เดนเนส" Gardenesque"    ซึ่งเน้นการแสดงพืชพรรณอันหลากหลายในสวน โดยจัดแสดงพืชแต่ละชนิดให้เห็นอย่างชัดเจน สวนแบบวิคทอเรียน    (Victorian Garden)นำรูปแบบสวนแบบเรอเนสซองส์มาใช้โดยเน้นการใช้รูปทรงเรขาคณิตเป็นแปลงปลูกพืช    แต่เน้นการใช้ไม้ดอกมากกว่าไม้ไม่ผลัดใบส่วนสวนในช่วง อาร์ต แอนด์ คราฟต์ มูฟเม้นต์ (Arts and    Crafts Movement) ซึ่งมีกลุ่มศิลปินแขนงต่างๆออกมาแสดงแนวคิดต่อต้านรูปแบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ    เช่น สวนของโมเนต์ที่ เมือง จิแวร์นี (Giverny)
ลักษณะเป็นการปลูกไม้ดอกหลายๆชนิดปะปนกันในแปลง    อยู่กับบ้านพักแบบชนบท ส่วนหนึ่งของสวนโมเนต์ทำเป็นบ่อบัวปลูกไผ่และหลิวริมน้ำซึ่งได้แรงบันดาลใจจากสวนจีน    สวนแห่งนี้เป็นต้นแบบให้กับรูปเขียนของศิลปินผู้นี้หลายชิ้นทีเดียว



สวนของโมเนต์

สวนฝรั่งเศส บาโรค



พัฒนาการของสวนดูเหมือนจะแยกออกจากเรื่องการเมืองการปกครองและวิถีชีวิตของชนชั้นสูงได้ยาก
โดยเฉพาะสวนในฝรั่งเศสซึ่งนำเข้ารูปแบบสวนอิตาลีและนักจัดสวนมาพร้อมๆกับการสมรสของราชวงศ์ฝรั่งเศสกับสมาชิกในตระกูลเมดิชิ    สวนในฝรั่งเศสได้รับการพัฒนามาเรื่อยๆจนถึงจุดพลิกผันที่สำคัญในยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ (Louis XIV)
 เสนาธิการกระทรวงการคลังผู้มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สมบัติของพระเจ้าหลุยส์นามว่า    "ฟูเกต์" (Fouquet)ผู้มีรสนิยมอันเลิศวิไลได้มอบหมายให้ "เลอ โนตร์" (La    Notre) ทำการออกแบบและสร้างสวนให้กับปราสาท "โว เลอ วิ กงต์" (Vaux le Vicomte) ซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองปารีส เลอ โนตร์ จัดการแปรสภาพพื้นที่โดยกำหนดให้ตัวอาคารเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของสวนทั้งหมด    สร้างแนวแกนสมมาตรจากตัวปราสาทเปิดแนวเส้นสายตาให้คล้ายกับว่าสวนไม่มีที่สิ้นสุด    โดยมีรูปสลักขนาดใหญ่เป็นจุดหยุดสายตาในสวนตกแต่งด้วยงานประติมากรรม ไม้ตัดแต่ง สระน้ำ และน้ำพุ    อย่างสวยงามสร้างความภาคภูมิใจให้กับฟูเกต์ผู้เป็นเจ้าของสถานที่อย่างมากถึงกับจัดงานฉลองอันหรูเริดเพื่อเปิดปราสาทให้พระเจ้าหลุยส์และแขกผู้มีเกียรติได้เข้าชม    หลังงานเลี้ยงไม่นานพระเจ้าหลุยส์ได้สั่งคุมขังฟูเกต์ตลอดชีวิตเนื่องด้วยไม่พอพระทัยในความหรูหราเกินหน้าเกินตา    และที่สำคัญทรัพย์สมบัติอันมากมายเหล่านั้นมีแหล่งที่มาที่น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่ง    เพราะนายฟูเกต์เป็นผู้มีหน้าที่ดูแลพระคลังของพระองค์นั่นเอง

 











จากปราสาท โว เลอ วิ กงต์ พระเจ้าหลุยส์ได้มอบหมายให้ เลอ โนตร์    มาออกแบบสวนแก่พระองค์ โดยให้ทำการพัฒนา ที่ประทับที่ใช้เมื่อออกล่าสัตว์ในเมือง "แวร์ซาย"    ซึ่งอยู่ไม่ไกลนักจากปารีส อันเป็นที่มาแห่งสวนและพระราชวังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป "ชาโต เดอ แวร์ซาย" (Chateau    de Versailles) สวนแห่งแวร์ซายกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของฝรั่งเศส และเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกต้องเดินทางไปเพื่อเข้าชม    ณ สถานที่แห่งนี้พระเจ้าหลุยส์กำหนดให้เลอ โนตร์    ออกแบบสวนเพื่อแสดงพระราชานุภาพโดยเชื่อว่าพระองค์เองเป็นสุริยกษัตริย์ (The    Sun King)เลอโนตร์ยังคงสร้างแกนหลักพุ่งจากตัวปราสาท    เปิดมุมมองสายตาให้ยาวไกลไม่มีที่สิ้นสุด บนแนวแกนวางบ่อน้ำพุโดยมีกลุ่มประติมากรรมรูปสุริยเทพและรถม้าวางต่อเนื่องกับสนามหญ้าขนาดใหญ่    ต่อด้วยคลองยาวไปจนสุดสายตาปลูกต้นไม้เป็นกลุ่มก้อนและควบคุมแนวเพื่อเน้นให้เกิดแกนที่ต้องการอย่างชัดเจน    มีการตัดแนวแกนแนวตั้งฉากกับแกนหลักเป็นระยะๆเพื่อนำไปสู่สวนส่วนอื่นๆที่ถูกซ่อนไว้ในกลุ่มต้นไม้    โดยรอบอาคารจัดเป็นสวนแบบทางการและทำปาร์แตร์ ซึ่งก็คือการปลูกต้นไม้และดอกไม้เป็นลวดลายสวยงามคล้ายพรมให้มองเห็นจากบนตึก นำปาล์ม ส้ม    และไม้เมืองร้อนมาปลูกนกระถางวางเรียงเป็นแนวตารางประดับบริเวณด้านข้างปราสาท แสดงอำนาจที่สามารถฝืนธรรมชาติได้    ต้นไม้เหล่านี้จะถูกยกเก็บในอาคารช่วงฤดูหนาว
งานประติมากรรมรูปเทพเจ้าและสัตว์ในเทพนิยายซึ่งเต็มไปด้วยการแสดงออกทางอารมณ์ ผนวกกับการสร้างสรรค์น้ำพุกว่า 1400 จุด    ทำให้สวนแห่งนี้เต็มไปด้วยสีสันและบรรยากาศแห่งจินตนาการที่เชื่อมโยงไปถึงสวรรค์ที่ประทับของสุริยเทพ    น้ำพุจำนวนมากเหล่านี้มากเสียจนไม่สามารถเปิดได้พร้อมกันทั้งหมดต้องมีผู้ดูแลคอยเปิดปิดสลับสับเปลี่ยนไล่ตามขบวนชมสวนของพระเจ้าหลุยส์    ในกลุ่มต้นไม้ใหญ่มีการตัดทาง (Allee)เป็นแฉกๆ    แยกจากจุดต่างๆเชื่อมถึงกันซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสวนฝรั่งเศสเรียกการตัดทาง แบบนี้ว่า "เท้าห่าน" (Goose Foot หรือ Patte d' Oie)
ความกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ต้นไม้ที่ถูกบังคับทิศทางและรูปทรง    ผนวกกับน้ำพุอันตระการตาที่มีรูปประติมากรรมอันงดงาม สร้างให้สวนแห่งนี้เป็นเครื่องมือแสดงพลังอำนาจทางการปกครองของผู้ทรงพลานุภาพยิ่งใหญ่เหนือใครที่แม้กระทั่งธรรมชาติยังต้องยอมสยบให้ จากความยิ่งใหญ่ดังกล่าวทำให้อิทธิพลของสวนแห่งแวร์ซายแผ่กระจายไปทั่วยุโรป
 

ตัวอย่างสวน

ปฏิทินอ้อม